วันศุกร์ที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2553

ศิลปะภาพถ่ายอัลเทอร์เนทีฟ (Alternative Photography)


การกลับมาของภาพถ่ายด้วยกระบวนการดั่งเดิม (Old Processing) แนวทางอนุรักษ์เชิงศิลปะ เป็นที่ทราบกันว่า การถ่ายภาพเป็นการจับแสงด้วยกล่องทึบและปฏิกริยาทางเคมีของสารไวแสง หรือ ซีซีดี(CCD) การสร้างสรรค์ศิลปะภาพถ่าย(Photography) มีพัฒนาการคู่ขนานกับศิลปะ (Fine Arts) ช่วงการเปลี่ยนแปลงทางสังคมในยุโรป เกิดภาพแนวทางอิมเพลสชั่น(Impressionism) ในส่วนของภาพถ่ายเกิดภาพแนวพิคโทเรี่ยล(Pictorialism) ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีดิจิตอลมีอิทธิพลต่อการก้าวกระโดดของภาพถ่ายที่รวดเร็วและแปรเปลี่ยนจากความจริงประจักษ์ (Realistic) เป็นสิ่งสร้างสรรค์ที่ก้าวเกินกว่าความเป็นปัจจุบัน(Versual image) ทั้งอารมณ์และบรรยากาศ   ผิวสัมผัสของเนื้อกระดาษ
เส้นใยพืช (Fiber base) ได้ลดทอนลง  ผู้ที่นิยมชมชอบภาพถ่ายในแนวทางดั่งเดิมที่สร้างสรรค์ภาพจากสารไวแสงชนิดต่างๆได้หวนคืนสู่วิถีของกระบวนการที่ใช้สารไวแสง  ด้วยการนำกระบวนการเดิมกลับมาใช้สร้างสรรค์งานศิลปะในเชิงทดลองเป็นทางเลือก(Alternative Photography)   พัฒนาการใช้สารเคมีที่มีพิษน้อยลง  ปรับปรุงสูตรสารไวแสงและ
กระบวนการสร้างภาพ(Development)  เช่นการนำกระบวนการไซยาโนไทฟ์(Cyanotype  process)  กระบวนการกัมไบโครเมท (Gum-bichromate  process) กระบวนการคาร์บอนพรินท์ (Carbon print  process) กระบวนการแวนไดค์ (Van-dyke  process)และอื่นๆ มาสร้างสรรค์และพัฒนากระบวนการต่างๆให้ง่ายและสะดวก ต่อการใช้งาน มีพิษต่อสิ่งแวดล้อม
น้อยลง กระบวนการเหล่านี้ใช้สารไวแสงที่มีส่วนผสมของเงินไนเตรทน้อยมากหรือไม่มีเลย(Non-silver) ส่วนใหญ่เป็นปฏิกริยาของสารประกอบเหล็ก (Iron based) และสารประกอบโคเมียม(Chromium based) ต้นแบบในการสร้างภาพไม่จำเป็นต้องเป็นฟิล์มเนกาทีฟ  สามารถใช้วัสดุโปร่งใส วัสดุทึบแสง เช่นโครงร่างใบไม้ ขนนก ใยฝ้าย ผ้าลูกไม้ กระดาษบาง ฯ เป็นต้น สิ่งเหล่านี้ทำให้เกิดการสร้างสรรค์จากวัสดุรอบตัว ผนวกกับจินตนาการ กำหนดระดับน้ำหนักภาพ (Tone value) เป็นไปตามความทึบบางของวัสดุต้นแบบ ประสิทธิภาพของสารไวแสง ช่วงเวลาและระดับความเข้มของ
รังสีอัลตราไวโอเรด  ดังนั้นตัวแปรจึงมีอยุ่บ้าง แต่ทำให้ได้ภาพที่เป็นต้นฉบับเพียงชิ้นเดียวที่สมบูรณ์(Master print)
กระบวนการที่ใช้มิได้เกิดขึ้นด้วยความบังเอิน หรืออุบัติเหตุ  สิ่งเหล่านี้สามารถทำซ้ำได้  เพียงแต่ความสมบูรณ์ของภาพแต่ละภาพจะแตกต่างกัน ในแต่ละครั้ง
ศิลปะภาพถ่ายอัลเทอร์เนทีฟ  จึงเป็นภาพถ่ายทางเลือกที่น่าสนใจยิ่งอีกทางหนึ่งลักษณะพิเศษของสารไวแสงที่ให้สีสันเฉพะตัว ความงามของน้ำหนักภาพและฝีแปรง พื้นผิวของวัสดุที่ใช้รองรับสารไวแสง  คุณสมบัติเหล่านี้จะพบได้เฉพาะในงานอัลเทอร์เนทีฟ เช่น กระบวนการแวนไดค์ (Van-dyke  process)หรือภาพ  (Brown Print) คุณสมบัติพิเศษที่ให้ภาพสีน้ำตาลแดง คล้ายสีซีเปีย จึงให้บรรยากาศของอารมณ์ที่ดูอบอุ่น และมีความหลังที่สงบสุขพร้อมด้วยความหวัง ด้วยโครงสีที่กลมกลืนในอารมณ์ที่อบอุ่น แม้บางครั้งจะดูเหงาแห้งแล้งและเก่าแก่ แต่สีน้ำตาลแดงก็ให้ความรู้สึกของอดีตที่น่าจดจำ
กระบวนการแวนไดค์ เป็นหนึ่งในศิลปภาพถ่ายอัลเทอร์เนทีฟที่ได้รับความสนใจ กระบวนการหนึ่งที่ให้ความงามทางสุนทรียศาสาตร์ ด้านสีสันบรรยากาศ ให้ภาพคมชัดสูง มีความคงทนและไวต่อแสงมากกว่ากระบวนการอื่นๆ  และมีลักษณะเฉพาะที่ให้สีน้ำตาลแดง
สารไวแสง (Sensitive solution)
เคมีหลักในน้ำยาไวแสงประกอบด้วย เฟร์ริคแอมโนเนียมซิเตรท  ทาร์ทาริคแอสิค และเงินไนเตรท การเตรียมสารไวแสงต้องทำในที่มืดสลัว หรือภายใต้แสงนิรภัยสีแดง  สีอำพันหรือหลอดไฟทังสเตนกำลัง 5-10 แรงเทียน ห้ามใช้แสงฟลูออเรสเซนซ์ เนื่องจากหลอดชนิดนี้มีรังสีอัลตราไวโอเรดเจืออยู่ซึ่งจะทำให้สารไวแสงเสียหายได้(Fog) ขณะผสมเคมีควรใส่ถุงมือยาง  เนื่องจากสารเงินไนเตรท์อาจเกาะติกผิวหนังได้ สารเงินนี้เมื่อถูกแสงจะเปลี่ยนสีเป็นสีน้ำตาลเข้ม
หากสัมผัสผิวหนังจะซึมเกาะติดอาจเป็นอันตรายได้  การผสมสารเคมีต้องแยกเป็น 3 ส่วนใส่ขวดทึบแสง แยกเป็น A, B และ C  การใช้งานเทสาร A:B:C  อย่างละเท่าๆกัน  โดยเทสาร A ลงภาชนะตามด้วย  B  ผสมให้เข้ากัน ตามด้วย  C  สารจะเปลี่ยนสี ผสมให้เข้ากัน จนใส สารละลายนี้จะมีอายุสั้นและไวต่อแสงทันที ดังนั้นจึงควรผสมสารไวแสงเท่าที่ต้องการใช้งานสามารถนำไปฉาบบนวัสดุตามต้องการ           
               สูตรน้ำยาไวแสง แวนไดค์
A            น้ำสะอาด                                                                                       33             มล.
               เฟร์ริคแอมโนเนียมซิเตรท                                                            9            กรัม
             [Ferric Ammonium Citrate (green)]
B            น้ำสะอาด                                                                                       33             มล.
              ทาร์ทาริคแอสิค                                                                             1.5            กรัม
            (Tartaric Acid)
C            น้ำสะอาด                                                                                       33             มล.
            เงินไนเตรท                                                                                     3.8            กรัม
            (Silver Nitrate)
การใช้งาน อัตราส่วน A:B:C = 1:1:1 ส่วน

วัสดุรองรับ
            วัสดุที่ใช้รองรับสารไวแสง นิยมใช้กระดาษวาดภาพสีน้ำขนาด 150-320 แกรม เนื่องจากกระบวนการสร้างภาพต้องใช้น้ำชะส่วนที่ไม่บันทึกแสงออก กระดาษจึงต้องหนาให้ทนต่อการแช่น้ำนานๆ หากเลือกใช้กระดาษเนื้อบางจะฉีกขาดได้ง่าย  หรืออาจใช้ผ้าฝ้่ายแทนกระดาษ ฯลฯ เช่นกระดาษของ Strathmore Artistes Drawing Paper, Rivers BFK, Whatman Water-colour 290 g, Stonehenge and Crane Kid Finish AS811, Arches Hot-press 300 g satin finish ,Fabriani Hot-press 300 g.  หรือ Master Art รุ่น Renaissance 200 gsm.  ผิวเนื้อกระดาษเลือกใช้แบบผิวหยาบ หรือผิวเรียบก็ได้ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับอารมณ์ของภาพและเนื้อสัมผัสที่ต้องการ พื้นผิววัสดุรองรับเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ใช้สร้างบรรยากาศของภาพ บางครั้งสามารถใช้ผ้าใบวาดสีน้ำมันแทนกระดาษก็ให้อารมณ์ภาพไปอีกแนวทางหนึ่ง
การฉาบสารไวแสง
            เตรียมกระดาษวาดภาพสีน้ำขนาด 200 แกรม เป็นวัสดุรองรับสารไวแสง ฉาบสารไวแสงในที่สลัว หรือภายใต้แสงนิรภัยสีแดง สารไวแสงนี้จะไวต่อรังสีอัลตราไวโอเรด ซึ่งมีในแสงแดด และหลอดวาวแสง การฉาบสารไวแสงจึงต้องระมัดระวัง การฉาบสารใช้แปรงโฟม ฉาบทาในทิศทางเดียวกัน และควรรอให้หมาดก่อนทาทับอีกครั้ง จากนั้นทิ้งไว้ในที่มืดให้แห้งสนิท อาจสามารถใช้เครื่องเป่าผมเร่งให้แห้งเร็วขึ้นได้แต่ต้องไม่เปิดสวิทช์ความร้อน  หรือทิ้งไว้ในห้องมืดสนิท 1 คืน และเก็บในซองดำหรือกล่องทึบแสง  กระดาษไวแสงนี้มีอายุสั้นควรใช้งานทันทีจะให้ผลดีที่สุด  หากต้องการเก็บสามารถเก็บได้นานประมาณ 2 สัปดาห์ในที่เย็นและมืดสนิท

วัสดุต้นแบบ (Nagative Films)
            กระบวนการนี้ให้ภาพตรงข้ามกับต้นแบบ  ดังนั้นต้นแบบจึงควรเป็นเนกาทิฟ เพื่อภาพที่ได้จะกลับเป็นพอซิทีฟ เหมือนจริงตามตาเห็น โดยทั่วไปจึงใช้ฟิล์มเนกาทีฟขาวดำเป็นวัสดุต้นแบบ ฟิล์มถ่ายภาพขาวดำและสี หรือวัตถุรอบตัวเรา เช่น วัตถุในธรรมชาติ  ขนนก ใบไม้รูปทรงแปลกตา ก้อนหิน กระดาษบางใส หรือแม้แต่ภาพถ่ายดิจิทัลที่พิมพ์์บนแผ่นใส ด้วยระบบอิงค์เจท หรือ ภาพจากเครื่องถ่ายเอกสาร( Photocoy ) ด้วยระบบผงหมึก ฯ สิ่งต่างๆเหล่านี้สามารถนำมาเป็น
วัตถุต้นแบบได้ตามจินตนาการ และความคิดสร้างสรรค์ วัสดุโปร่งใสจะให้ผลดีกว่าวัตถุทึบแสง ที่สามารถให้น้ำหนักภาพที่มากกว่า การสร้างเนกาทีฟจากคอมพิวเตอร์ ต้องพิมพ์เลเยอร์แต่ละสี แยกออกมาเพื่อกำหนดน้ำหนัก(แยกชั้นสีแต่ละสี หากนำไปใช้กับกระบวนการกัมไบโครเมทกำหนดสีแต่ละส่วนของภาพ)

การฉายแสง (Exposure)
            การอัดภาพต้องใช้เฟรม ลักษณะคล้ายกรอบกระจกใส่รูปภาพ แต่มีสันขอบหนากว่า พื้นหลังเป็นแผ่นไม้อัดสองชิ้น ดามด้วยแผ่นเหล็กใช้ดันหลังไม้ให้กดกระดาษให้เรียบสนิทหากไม่มีกรอบเฟรมให้ใช้กระดานไม้วาดภาพ รองทับด้วยกระดาษหนังสือพิมพ์สองสามช้ันทับด้วยกระจกใสขนาดเท่ากระดาน และคลิปจับกระดาษขนาดใหญ่ 4 ตัวจับขอบกระจก
นำกระดาษไวแสงวางบนพื้นกรอบเฟรมอัดภาพ วางฟิล์มเนกาทีฟบนกระดาษไวแสง ขั้นตอนนี้ต้องทำในที่สลัวไม่ใกล้แสงแดดและแสงไฟฟลูออเรสเซนซ์ ผนึกทับด้วยกระจกใสปิดล๊อคด้วยคริปจับกระดาษขนาดใหญ่ทั้ง 4 ด้าน  จากนั้นนำไปตากแดด วันที่ท้องฟ้าแจ่มใสไม่มีเมฆจะให้ผลดีที่สุด วางเฟรมอัดภาพทำมุม 90 องศากับดวงอาทิตย์  ใช้เวลาฉายแสงนาน
5-10 นาที สังเกตุสีของสารไวแสงจะเปลี่ยนเป็นสีเขียวขี้ม้าเข้มถึงดำ  ครบเวลานำเข้าที่ร่ม ถอดคลิปและกระจกออกแยกแผ่นฟิล์มออก เตรียมลงน้ำสร้างภาพ (Developer)

การล้างกระดาษ (Processing  paper)
              นำกระดาษไวแสงไปล้างน้ำสะอาดให้น้ำไหลผ่านชะสารเคมีที่ไม่บันทึกแสงจะละลายออกไปสังเกตุดูน้ำจะเปลี่ยนจากสีเหลืองเป็นใส  นำลงน้ำยาคงภาพ (Fixer) แช่น้ำยานี้ประมาณ 1-2 นาทีจากนั้นนำไปล้างน้ำสะอาด 20-30 นาที และนำตากแห้ง 

สูตรน้ำยาคงภาพ
น้ำสะอาด                                                                      1000  มล.
โซเดียมไทโอซัลเฟท(ไฮโป)                                        30   กรัม
(Sodium Thiosulphate)
การใช้งาน  น้ำยาคงภาพนี้จะเปลี่ยนสีภาพจากน้ำตาลแดง เป็นสีน้ำตาลเข้ม แช่น้ำยานี้ประมาณ 1-2 นาที นำขึ้นชะน้ำ 20-30 นาที
           
การสร้างสรรค์งาน
            ภาพจากกระบวนการนี้ให้ภาพสีน้ำตาลเข้มและดำ ส่วนที่ไม่บันทึกแสงให้สีขาวของเนื้อกระดาษเป็นส่วนสว่างในภาพ บริเวณที่เป็นสีอ่อนให้น้ำหนักโทนต่อเนื่องได้ดี อารมณ์ของภาพให้โครงสีอบอุ่นและย้อนอดีตที่โหยหา ส่วนสว่างและน้ำหนักสีอ่อนบริเวณนี้สามารถเพิ่มสีสันด้วยสีน้ำหรือดินสอสีไม้น้ำ ในส่วนละเอียดที่ต้องการเน้นหรือสร้างสีสันตามจินตนาการของศิลปินและสามารถพัฒนาต่อยอดสร้างสรรค์แนวคิดใหม่ๆได้อีกมากมาย  การย้อนกลับมาพิจารณาสิ่งที่มีอยู่เดิม ปรับประยุกต์ด้วยความคิดใหม่ในสภาพสังคมปัจจุบันนำเสนอด้วยกระบวนการและเทคนิควิธีที่โน้มนำสู่ความภาคภูมิและกระบวนการที่สะท้อนความคิดร่วมสมัย  เป็นอีกแนวทางของศิลปินศิลปะภาพถ่ายอัลเทอร์เนทีฟที่น่าสนใจยิ่ง

คำเตือน
การทำงานร่วมกับเคมีต้องระมัดระวัง และสวมเครื่องป้องกันเสมอ ขณะฉายแสงไม่ควรยืนใกล้หรืออยู่ใต้ลม เนื่องจากสารเคมีเมื่อถูกความร้อนจะมีบางส่วนที่ระเหยออกมาและเป็นพิษ จึงต้องอยู่ในที่มีอากาศถ่ายเทตลอดเวลา
           
เอกสารอ้างอิง
Arnow, Jan. (1982).   Handbook of Alternative Photographic Processes ,Van Nostrand Reinhold.
p. 67-71.
Blacklow,Laura. (1995).  New dimensions in photo image : A step-by-step  manual. (second edition).
             Focal Press.
Luciana,James and Watts,Judith. (1999). The Art of enhanced photography : beyond the photographic
image. Mitchell Beazley.

ภาพประกอบบทความ

กระดาษวาดภาพสีน้ำ ขนาด 200 gms ใช้เป็นวัสดุรองรับสารไวแสงแวนไดค์กระดาษหนาจะช่วยให้ภาพไม่โป่งงอจากน้ำที่ผสมในสารไวแสง

การฉาบสารไวแสง ด้วยแปรงโฟม ควรทาทางเดียว ขั้นตอนนี้ต้องทำในที่มืดสลัว หรือภายใต้แสงนิรภัยสีแดง ห้ามเปิดไฟฟลูออเรสเซนซ์ขณะทำงาน สารไวแสงจะเสีย (Fog)

วางเนกาทีฟบนกระดาษไวแสงที่แห้งสนิท ทำในห้องมืดภายใต้แสงนิรภัยสีแดง ปิดทับด้วยกระจกใสและยึดติดด้วยคลิปจับกระดาษขนาดใหญ่ทั้งสี่ด้าน


นำฉายแสง แสงแดดจัดใช้เวลา 5-10 นาที

นำมาล้างน้ำสะอาดประมาณ 1-2 นาที แล้วลงน้ำยาคงภาพ (Fixer) ใช้เวลา 1-2 นาที ภาพจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลเข้ม นำขึ้นล้างน้ำอีกครั้ง20-30 นาที ครบเวลานำขึ้นตากแห้งในร่ม

ภาพ “พุทธมหาธาตุ”  จากกระบวนการแวนไดค์
ภาพโดย ผศ.สุรพงษ์ เอี่ยมพิชัยฤทธิ์
















 “เจดีย์วัดพระศรีสรรเพชร์”
ภาพโดย ผศ.สุรพงษ์ เอี่ยมพิชัยฤทธิ์